การประคบสมุนไพรเป็นอีกหนึ่งวิธีในการรักษาของแพทย์แผนไทย ซึ่งโดยส่วนมากมักจะใช้ควบคู่ไปกับการนวดรักษา เป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพในการรักษาให้ดีขึ้น และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวมากขึ้น ทั้งนี้ในผู้ป่วยบางรายแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์อาจพิจารณารักษาด้วยการประคบสมุนไพรเป็นหลักเพียงอย่างเดียวก็ได้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะบางอย่างที่ไม่เหมาะกับการนวดรักษา
การประคบสมุนไพรจะเป็นลักษณะของการประคบร้อน ซึ่งหลักการรักษาหลักๆจะเป็นเรื่องของการใช้ความร้อนในการช่วยให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืด คลายความตึงตัว และช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น ในส่วนของตัวยาสมุนไพรซึ่งเป็นส่วนประกอบของลูกประคบนั้น ก็จะมีสรรพคุณที่ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการรักษาเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ประโยชน์ของการประคบสมุนไพร
- ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย
- ช่วยลดอาการบวม อักเสบของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ หลัง 24-48 ชั่วโมง
- ลดอาการเกร็ง ตึง ของกล้ามเนื้อ พังผืด
- ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
ส่วนประกอบหลักของลูกประคบสมุนไพร
- ไพล แก้ปวดเมื่อย ลดการอักเสบ
- ผิวมะกรูด มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน
- ตะไคร้บ้าน แต่งกลิ่น
- ใบมะขาม แก้อาการคันตามร่างกาย ช่วยบำรุงผิว
- ขมิ้นชัน ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง
- เกลือ ช่วยดูดความร้อน และช่วยพาตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้สะดวกขึ้น
- การบูร แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ
- พิมเสน แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ
ข้อควรระวัง
- ระวังการประคบบริเวณผิวหนังอ่อน บริเวณที่มีแผล ควรมีการทดสอบความร้อนบริเวณท้องแขนก่อนการประคบทุกครั้ง หากลูกประคบร้อนมากให้ใช้ผ้าขนหนูห่อลูกประคบก่อน
- ควรระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยเบาหวาน อัมพาต เด็ก และผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าว ความรู้สึกตอบสนองต่อความร้อนช้า อาจจะทำให้ผิวหนังไหม้ พองได้ง่าย
- ไม่ควรใช้ลูกประคบสมุนไพรในกรณีที่มีการอักเสบ (ปวด, บวม, แดง, ร้อน) ในช่วง 24 ชั่วโมง เนื่องจากจะทำให้อักเสบมากขึ้นได้
- หลังจากประคบสมุนไพรแล้ว ไม่ควรอาบน้ำทันทีเพราะจะไปชะล้างตัวยาออกจากผิวหนัง และอุณภูมิของร่างกายปรับเปลี่ยนไม่ทันอาจจะทำให้ธาตุในร่างกายเสียสมดุลได้