การเผายา คืออะไร
การเผายา เป็นศาสตร์การแพทย์พื้นบ้านล้านนา ที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นการนำสมุนไพรหลากหลายชนิดซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย ฤทธิ์ร้อน ช่วยลดอาการปวดเมื่อย มาสับรวมกันผสมกับเกลือเล็กน้อย วางไว้บนหน้าท้องและใช้ผ้าหมาดทำเป็นวงวางล้อมรอบสมุนไพร ใช้ผ้าหมาดคลุมทับอีกครั้งหนึ่ง พ่นแอลกอฮอล์พอประมาณและจุดไฟเผา ในขณะที่เผายาความร้อนจะค่อยๆถ่ายเทลงสู่สมุนไพรด้านล่าง และจะอุ่นลงไปบนหน้าท้องของคนไข้ นอกจากนี้การเผายาสามารถทำบริเวณกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ด้วย เช่น กล้ามเนื้อบ่า หลัง ขา หัวเข่า เป็นต้น
ประโยชน์ของการเผายา ช่วยบรรเทาอาการ
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- อาหารไม่ย่อย
- ท้องผูก
- สะบัดร้อน สะท้านหนาว
- ปรับสมดุลธาตุในร่างกาย กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ภูมิแพ้ หอบหืด
ใครบ้างที่ไม่เหมาะกับการเผายา ?
- มีไข้ ปวดศีรษะ
- ตัวร้อน ร้อนใน
- มีประจำเดือน
- อ่อนเพลียจากการตากแดด
- หอบเหนื่อย
- มีแผลผ่าตัด
- ผิวหนังอักเสบรุนแรง หรือมีแผลพุพองง่าย
- ความดันโลหิตสูง
เมื่อเผายาเสร็จแล้ว ไม่ควรอาบน้ำทันที และควรงดการรับประทานอาหารฤทธิ์เย็น เช่น แตงโม น้ำเย็น เพราะความเย็นจะเข้ามากระทบทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก การเผายาที่ทำไปจะไม่ได้ผล