ตามทฤษฎีทางการแพทย์แผนไทยซึ่งมีพัฒนาการมาจากการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย ได้กล่าวไว้ว่าร่างกายของคนเราประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ธาตุดิน (ปถวีธาตุ) ถือเป็นที่ตั้งแห่งกองธาตุ มีคุณสมบัติแข็ง คงรูป คงตัว จับต้องได้ เป็นองค์ประกอบในส่วนที่เป็นโครงสร้าง จำแนกออกได้เป็น 20 ประการ ได้แก่

- ผม (เกศา)
- ขน (โลมา)
- เล็บ (นขา)
- ฟัน (ทันตา)
- ผิวหนัง (ตะโจ)
- เนื้อ (มังสัง)
- เส้นเอ็น (นหารู)
- กระดูก (อัฎฐิ)
- เยื่อในกระดูก (อัฎฐิมิญชัง)
- ม้าม (วักกัง)
- หัวใจ (หทยัง)
- ตับ (ยกนัง)
- พังผืด (กิโลมกัง)
- ไต (ปิหกัง)
- ปอด (ปับผาสัง)
- ไส้ใหญ่ (อันตัง)
- ไส้น้อย (อันตคุนัง)
- อาหารใหม่ (อุทริยัง)
- อาหารเก่า (กรีสัง)
- เนื้อในสมอง (มัตถเก มัตถลุงคัง)
2. ธาตุน้ำ (อาโปธาตุ) มีลักษณะเป็นของเหลว ซึมซาบ ไหลเวียน โดยอาศัยธาตุลมช่วยทำให้เคลื่อนที่ จำแนกออกได้เป็น 12 ประการ ได้แก่

- น้ำดี (ปิตตัง)
- เสมหะ (เสมหัง)
- น้ำหนอง (ปุพโพ)
- น้ำเลือด (โลหิตตัง)
- เหงื่อ (เสโท)
- มันข้น (เมโท)
- น้ำตา (อัสสุ)
- มันเหลว (วสา)
- น้ำลาย (เขโฬ)
- น้ำมูก (สิงฆานิกา)
- น้ำไขข้อ (ลสิกา)
- น้ำปัสสาวะ (มุตตัง)
3. ธาตุลม (วาโยธาตุ) เป็นพลังภายในร่างกายที่ทำให้มีการเคลื่อนที่ เคลื่อนไหว หมุนเวียน จำแนกออกได้เป็น 6 ประการ ได้แก่

- ลมพัดจากเบื้องล่างสู่เบื้องบน (อุทธังคมาวาตา)
- ลมพัดจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง (อโคมาวาตา)
- ลมพัดในกระเพาะอาหารและลำไส้ (โกฏฐาสยาวาตา)
- ลมพัดอยู่ในท้องนอกลำไส้ (กุจฉิสยาวาตา)
- ลมพัดทั่วร่างกาย (อังคมังคานุสารีวาตา)
- ลมหายใจเข้าออก (อัสสาสะปัสสาสะวาตา)
4. ธาตุไฟ (เตโชธาตุ) มีลักษณะของการเผาผลาญ เผาไหม้ ให้ความร้อน ให้ความอบอุ่น จำแนกได้เป็น 4 ประการ ได้แก่

- ไฟสำหรับอุ่นกาย (สันตัปปัคคี)
- ไฟทำให้ร้อนระส่ำระส่าย (ปริทัยหัคคี)
- ไฟเผาให้แก่ชรา (ชิรณัคคี)
- ไฟย่อยอาหาร (ปริณามัคคี)