Office syndrome (ออฟฟิศซินโดรม) หรือ Myofascial Pain Syndrome เป็นโรคเกี่ยวกับอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยจะมีจุดกดเจ็บ (trigger point) ซึ่งทำให้อาการปวดร้าวไปตามส่วนต่าง ๆ ของกล้ามเนื้อหรือบริเวณที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้ายทอย ปวดกราม ปวดลงแขน-ขา เป็นต้น โดยผู้ป่วยมักจะมีลักษณะของการปวดกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง หรืออาการอาจแย่ลงเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาหรือแก้ไขปัญหาจากสาเหตุ
สาเหตุของโรค
- การใช้งานมัดกล้ามเนื้อเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เช่น นั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ, การเล่นกีฬาโดยใช้กล้ามเนื้อเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน
- การใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไปจนเกิดการบาดเจ็บ และมีการหดเกร็งตัว
- กล้ามเนื้อหดเกร็งตัวเป็นเวลานานจากการถูกกดทับของเส้นประสาท
- ภาวะที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ๆ ขาดความยืดหยุ่น เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต
- ภาวะความผิดปกติทางจิตใจ เช่น เครียด กังวล เป็นต้น
ลักษณะอาการ
มีอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น บ่า ต้นคอ สะบัก หลัง เป็นต้น อาการปวดมักเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว อาจปวดเป็นบริเวณกว้าง ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ปวดได้ชัดเจน มีการปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียง ลักษณะการปวดร้าวจะปวดแบบล้า ๆ โดยระดับความรุนแรงจะมีตั้งแต่ปวดเล็กน้อยพอรำคาญ จนถึงปวดทรมานมาก หรือปวดจนรบกวนการนอน
การรักษา
การนวดรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย (นวดแผนไทย, นวดกดจุด, นวดแก้อาการ) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี และเกิดผลข้างเคียงน้อย โดยหากมีการประคบความร้อนหรือประคบสมุนไพร และผู้ป่วยมีการปรับพฤติกรรม ยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการรักษา จะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาอื่น ๆ ได้แก่ การทำกายภาพบำบัด, ฝังเข็ม, ใช้ยา (ยาทาภายนอก, ยารับประทาน), ฉีดยา, ออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้หลาย ๆ คนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการ work from home, การทำงาน online, ประชุม online หรืออื่น ๆ ซึ่งโดยภาพรวมจะมีระยะเวลาการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้น ใช้สายตามากขึ้น มีความเครียดมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังดังที่กล่าวมาข้างต้นได้ง่ายขึ้น ทุกคนจึงควรหันมาดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันการเกิดโรค และรักษาสุขภาพของตนเองให้สมบูรณ์แข็งแรง หากใครที่มีอาการปวดเรื้อรังและเริ่มปวดมากขึ้นแล้วก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน และควรหาวิธีการรักษาเพื่อให้อาการดังกล่าวดีขึ้น